เมืองพิจิตร (สระหลวง)
=> ข่าวสารราชการ ข่าวสารทั่วไป สอบถามต่างๆ => ข้อความที่เริ่มโดย: Nanthawat (Modฯ) ที่ 11 พฤศจิกายน 2558, เวลา 12:00:23 น.

หัวข้อ: ไขข้อสงสัยภาพดอกไม้ในไลน์ แท้จริงผิด-ไม่ผิดลิขสิทธิ์..!?
เริ่มหัวข้อโดย: Nanthawat (Modฯ) ที่ 11 พฤศจิกายน 2558, เวลา 12:00:23 น.
ไขข้อสงสัยภาพดอกไม้ในไลน์ แท้จริงผิด-ไม่ผิดลิขสิทธิ์..!?


ภาพดอกไม้ คำคม คำอวยพร ถูกส่งต่อว่อนไลน์ ถือเป็นเทรนด์ฮิตของผู้สูงวัย จนหลายคนตั้งคำถามว่าภาพเหล่านั้นมาจากไหน ถูกลิขสิทธิ์หรือไม่

หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโซเชียลมีเดีย ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในทุกเพศทุกวัย แทบจะทุกเวลาก้มหน้าก้มตากดท่องโลกออนไลน์ โดยเฉพาะวัยรุ่น และวัยทำงานที่ต้องติดต่อสื่อสารกัน  แต่อย่ามองข้ามผู้สูงอายุไปยังมีผู้ใหญ่สูงวัยจำนวนไม่น้อยก็สนใจหันมาจับเทคโนโลยีเหล่านี้บ้าง

กลายเป็นกระแสเทรนด์ฮิตสำหรับเหล่าบรรดานักท่องโซเชียลสูงวัย อย่างการส่งภาพดอกไม้ทักทายกันยามเช้า คำคม คำอวยพรต่างๆ ในโซเชียลไลน์ จนถึงขณะนี้ก็ยังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง


[attach=1]

โดยผู้ใหญ่หลายๆ คน มักพูดน้อย แต่เน้นการส่งภาพมาให้ เพื่อแทนคำพูด ส่วนใหญ่ภาพเหล่านั้นจะเป็นแพทเทิร์นเดิมๆ คือแบ็คกราวน์รูปดอกไม้สีสดใส พร้อมคำคม หรือคำอวยพรตามเทศกาล  ตั้งแต่อรุณสวัสดิ์ยามเช้า ไปจนถึงราตรีสวัสดิ์ยามค่ำคืน ช่างมากมายและหลากหลาย จนใครหลายคนต่างตั้งข้อสงสัยว่า ภาพเหล่านั้นต้นตอที่แท้จริงมาจากไหน แล้วถูกลิขสิทธิ์หรือไม่?

ซึ่งภาพดังกล่าว ถูกสันนิษฐานว่ามาจากเว็บไซต์ที่ถูกค้นหามากที่สุด อย่างกูเกิ้ล(Google) ส่วนหนึ่งมาจากช่องทางนี้ และบางส่วนได้รับมาจากการส่งต่อแล้วเก็บรวบรวมไว้ และสติ๊กเกอร์ไลน์ก็สื่อความหมายได้ดีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแอพสำหรับแต่งภาพ เพื่อให้มือโปรทั้งหลายได้ทดลองใช้เองอีกด้วย

(http://news.mthai.com/wp-content/uploads/2015/08/1422715626-image-o.jpg)
ขอบคุณภาพจาก evilaspire (https://www.facebook.com/evilaspire)


ก่อนหน้านี้ไม่นาน ได้มีข่าวลือในโซเชียลไลน์ของกลุ่มเครือญาติผู้ใหญ่  โดยได้เตือนให้งดการแชร์ภาพดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะโดนข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์

ทางทีมข่าว MThai News (http://news.mthai.com/) จึงได้ตรวจสอบเกี่ยวกับกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์กับทาง ปอท. ทำให้สามารถอธิบายข้อกฎหมายได้ ดังนี้

1.กฎหมายลิขสิทธิ์ มุ่งคุ้มครองงานสร้างสรรค์ของเจ้าของ หรือผู้มีสิทธิ์ ใน 2 กรณีคือ ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือ เผยแพร่ เพื่อมุ่งประสงค์ทางการค้าหรือหากำไร

ฉะนั้น ถ้าไม่ได้ทำ 3 อย่างนี้ ก็ไม่เป็นความผิด เช่น เราส่งรูปภาพกันทางไลน์ ในลักษณะติดต่อถึงกัน ไม่ใช่ค้าขาย หรือโฆษณาไม่ผิด เซฟไว้ครอบครองก็ไม่ผิด แต่ห้ามนำไปขาย

2. เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์แก้ไข กรณีส่งรูปภาพกันทางสื่อออนไลน์ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นกรณีไม่ได้ทำในกรอบ 3 อย่างข้างต้น ก็ไม่ผิดเช่นกัน

ดังนั้นชาวโซเชียลจึงไม่ต้องตกใจ เพราะที่แก้ไขใหม่นี้ มุ่งเน้นไปที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือบริการออนไลน์ จะต้องไม่รู้เห็นเป็นใจ หรือปกปิดการทำผิดของผู้ใช้บริการ หากกระทำอย่างนั้นถือว่าเป็นผู้กระทำผิด แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นหากจะผิดหรือถูก ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของศาลท่านว่าจะตัดสินออกมาเช่นไร

การส่งภาพดังกล่าวส่วนใหญ่มีแต่ผู้สูงวัยนิยมใช้นั้น เนื่องจากท่านหาความสดชื่นให้กับชีวิต ด้วยคำอวยพร ส่งความสุขให้กัน แม้อาจทำให้ลูกหลานรำคาญไปบ้าง แต่ภาพเหล่านี้ล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความห่วงใย ยิ่งถ้าผู้ส่งนั้นอยู่ห่างไกลกัน จะสามารถรับรู้ได้เลยว่าเขาคิดถึงเราอยู่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญ และเห็นคุณค่าของคนในครอบครัวมากขึ้น

รุ่งฤดี  ฤทธิสิทธิ์  เขียน








ขอบคุณข้อมูลจาก...
http://news.mthai.com/hot-news/webmaster-talk/456341.html (http://news.mthai.com/hot-news/webmaster-talk/456341.html)