เมืองพิจิตร (สระหลวง)
=> จังหวัดพิจิตร => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงเปี๊ยก ที-เน็ตเวิร์ค (อ.สากเหล็ก) ที่ 21 มีนาคม 2557, เวลา 12:18:41 น.

หัวข้อ: ประเพณีการแข่งขันเรือยาว
เริ่มหัวข้อโดย: ลุงเปี๊ยก ที-เน็ตเวิร์ค (อ.สากเหล็ก) ที่ 21 มีนาคม 2557, เวลา 12:18:41 น.
ประเพณีการแข่งขันเรือยาว

      ประเพณีของวัดท่าหลวง เริ่มตั้งแต่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณพระธรรมทัสสี-มุนีวงศ์ (เอี่ยม) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ประมาณ พ.ศ. 2450 ในการจัดรางวัลการแข่งขันเรือยาวประเพณีนั้น ในสมัยหลวงพ่อเอี่ยมและต้นสมัยหลวงพ่อไป๋นั้น จัดผ้าห่มหลวงพ่อเพชรพับใส่พานให้เป็นรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศแก่เรือยาวเมื่อเรือยาวลำใดได้ผ้าห่มหลวงพ่อเพชรไปแล้ว วัดท่าหลวงเป็นสถานที่จัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วงต้นเดือนกันยายน ในวันแรม 6 ค่ำ เดือน 10 และจัดแข่งขันเพียงวันเดียว ประชาชนให้ความสนใจมาชมงานอย่างคับคั่งล้นหลามตลอดมา เพราะวัดท่าหลวงตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพิจิตรเพียงวัดเดียวเท่านั้น และต่อมามีการเพิ่มวันในการจัดงานให้มากขึ้น ในปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานถ้วยรางวัล เนื่องในการแข่งขันเรือยาวประเพณีของจังหวัดพิจิตร รายได้จากการจัดงาน ก็มากขึ้นมีผลให้เงินสุทธิของงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรก็จะนำรายได้สุทธิจากงานนั้นส่วนหนึ่งถวายวัดท่าหลวง ทางวัดได้นำเงินจำนวนนี้บูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัดท่าหลวง


[attach=1] (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:105.jpg)   [attach=2] (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:26415.jpg)

การแข่งขันเรือยาวพิจิตร         
           จัดเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และจัดมานานแล้ว มีเรือเข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุด เนื่องจากจังหวัดพิจิตรมีแม่น้ำไหลผ่าน 2 สาย คือ แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน อีกทั้งมีน้ำไหลหลากเป็นประจุกปีตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน วัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำและมีเรือประจำวัด จะจัดให้มีการแข่งขันเรือยาวพร้อมจัดงานปิดทองไหว้พระไปด้วย เรือที่จัดให้มีการแข่งขัน ได้แก่ เรือยาวที่มีขนาดฝีพายต่างๆ เรือบด เรือหมู เรืออีโปง เรือเผ่นม้า ฯลฯ บางวัดจดงานแข่งเรือฉลององค์กฐินประจำปีไปด้วย

            จังหวัดพิจิตรมีงานประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดแข่งขันในวันเสาร์และวันอาทิตย์แรกของเดือนกันยายน เป็นประจำทุกปี โดยจัดที่วัดท่าหลวง พระอารามหลวง อำเภอเมืองพิจิตร ซึ่งมีประวัติความเป็นมาดังนี้

            การแข่งขันเรือยาวประเพณีของวัดท่าหลวงฯ เริ่มจัดเมื่อประมาณ พ.ศ.2450 โดยพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวงฯ และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรเป็นผู้ริเริ่มแล้วได้จัดติดต่อกันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงสมัยของพระฑีฆทัสสีมุนีวงศ์ (ไป๋ นาควิจิตร) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าหลวงและเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร จึงได้กำหนดจัดงานแข่งขันเรือยาวตามวันทางจันทรคติ ในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ต่อมาน้ำในแม่น้ำน่านแห้งเร็วไม่เหมาะต่อการแข่งเรือ จึงเปลี่ยนมาเป็นวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งตรงกับช่วงงานปิดทองไหว้พระนมัสการหลวงพ่อเพชร

            เดิมกรรมการวัดเป็นผู้จัดทำรางวัลการแข่งขัน ส่วนใหญ่เป็นของอุปโภคบริโภค เช่น กล้วยทอด ข้าวเม่าทอด ผ้าขาวม้า น้ำมันก๊าด ส่วนรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศจะได้ผ้าห่มหลวงพ่อเพชรไปครอง ซึ่งถือว่าเป็นศิริมงคลกันเรือและเทือกเรือ (ฝีพาย) โดยนำไปพันไว้ที่โขนเรือของตน ภายหลังคณะกรรมการพิจารณาว่า ผ้าห่มหลวงพ่อเพชรเป็นของสูงการนำผ้าไปพันบนโขนเรือไม่เหมาะสมจึงยกเลิก แล้วจัดธงที่มีรูปหลวงพ่อเพชรไปเป็นรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศแทน ต่อมาก็ทำธงมอบให้แก่เรือที่ร่วมเข้าแข่งขันทุกลำ

            การแข่งขันเรือยาวประเพณีของจังหวัดพิจิตรที่จัด ณ วัดท่าหลวงฯ ได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ คือ เพิ่มวันแข่งขันจากหนึ่งวันมาเป็นสองวัน จัดให้มีการแข่งขันเรือยาว 2 ขนาดคือเรือยาวใหญ่และเรือยาวเล็ก      ต่อมาได้ขยายวันแข่งขันเป็น 3 วัน เนื่องจากมีเรือเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้นและได้เพิ่มขนาดของเรือแข่งเป็น 3 ขนาด ได้แก่ เรือยาวใหญ่ (ฝีพายไม่เกิน 55 คน) เรือยาวกลาง (ฝีพายไม่เกิน 40 คน) และเรือยาวเล็ก (ฝีพายไม่เกิน 30 คน) และเพิ่มเป็น 2 ประเภท คือ ประเภท ก (ฝีพายจัด) ประเภท ข (เป็นเรือชุดใหม่ หรือเรือฝีพายปานกลาง)        ปัจจุบันได้เปลี่ยนวันแข่งขันจากวันทางจันทรคติ มาเป็นทางสุริยคติ โดยกำหนดจัดแข่งขัน ในวันเสาร์และวันอาทิตย์แรกของเดือนกันยายนทุกปี

            ในวันเปิดการแข่งขันเรือยาวประเพณีจะจัดให้มีขบวนพาเหรดเรือของแต่ละอำเภอประเภทต่างๆ ได้แก่ เรือประเภทสวยงาม ประเภทความคิด และประเภทตลกขบขัน และยังมีการประกวดกองเชียร์ของเรือแต่ละลำด้วย กลางคืนจะจัดให้มีมหรสพให้ชมฟรี

            ใน พ.ศ.2524 จังหวัดร่วมกับพ่อค้าประชาชน วัดท่าหลวงฯ และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ขอพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ นับว่าเป็นถ้วยพระราชทานแห่งเดียวและแห่งแรกในขณะนั้น โดยกำหนดว่าหากเรือลำใด ครองถ้วยพระราชทานติดต่อกัน ครบ 3 ครั้ง จะได้รับถ้วยนั้นไปครอง ปัจจุบันการแข่งขันเรือยาวประเพณีของจังหวัดพิจิตร ได้เปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันมาเป็นเชิงธุรกิจมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจังหวัดร่วมกันสมาคมส่งเสริมกีฬาจังหวัดพิจิตร ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดพิจิตรและองค์กรต่าง ๆ

            แนวทางการจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีของจังหวัดพิจิตร มีดังนี้

            1. สนามแข่งขัน จัดแข่งขัน ณ แม่น้ำน่านหน้าวัดท่าหลวงพระอารามหลวง อำเภอเมืองพิจิตร ระยะทางการแข่งขัน 650 เมตร จัดแข่งขันโดยแบ่งร่องน้ำออกเป็น 2 ลู่ และทุกระยะทาง 220 เมตร จะมีธงสัญญาณกำหนดลู่ร่องน้ำ รวม 3 จุด การปล่อยเรือออกจากทุ่น จะถือเอาปลายสุดของโขนเรือเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องให้ได้แนวเท่ากัน และประมาณ 3 เมตร ปักอยู่ตรงฝั่งกรรมการจะมีเชือกสีที่เห็นได้ชัดทิ้งดิ่งให้ได้ฉากกับเสาที่อยู่ตรงข้ามเชือกนี้จะต้องตรึงให้อยู่กับที่          และใช้กล้องวีดิทัศน์จับภาพการเข้าเส้นชัยทุกครั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสิน ในกรณีที่สูสีกันมาก ๆ

            2. ลักษณะของเรือยาว จะต้องเป็นเรือขุดจากไม้ทั้งต้น ความยาวไม่จำกัด แต่จะจำกัดจำนวนฝีพายที่จะลงแข่งขันในประเภทนั้น ๆ และผู้เข้าแข่งขันจะต้องเตรียมเรือ ใบพายตลอดจนเทือกเรือ (ฝีพาย) มาเอง

            3. ขนาดเรือ แบ่งออกเป็น 3 ขนาด โดยกำหนดจำนวนฝีพายเป็นเกณฑ์ ดังนี้
                  เรือยาวใหญ่              ฝีพายไม่เกิน        55         ฝีพาย
                  เรือยาวกลาง              ฝีพายไม่เกิน        40         ฝีพาย
                  เรือยาวเล็ก                ฝีพายไม่เกิน        30         ฝีพาย
                 ในแต่ละประเภทและขนาดจะจับฉลากพบกัน แข่งขันแบบหาผู้ชนะเข้ารอบสอง แล้วจะจัดให้เรือที่ชนะในรอบแรกเป็นเรือประเภท ก และเรือที่แพ้จะจัดให้อยู่ในเรือประเภท ข แล้วแข่งขันในประเภทของตนเองจนจบการแข่งขัน และได้เรือที่ชนะเลิศ

            4. การสมัครเข้าแข่งขัน เรือทุกลำจะสมัครได้เพียงประเภทเดียวเท่านั้น และจะต้องจับฉลากประกบเรือตามวันและเวลาที่คณะกรรมการกำหนด

            5. การเปรียบเรือ  ผู้แทนหรือผู้คุมเรือจะต้องจบฉลากประกบคู่เรือ และสายน้ำ ตามวันและเวลาที่คณะกรรมการกำหนดเปรียบเรือ

            6. จำนวนผู้ร่วมแข่งขัน เรือแต่ละลำจะส่งจำนวนฝีพายเข้าสมัครแข่งขันเท่าไรก็ได้ แต่เวลาลงเรือต้องเป็นไปตามที่กำหนดขนาดประเภทเรือ และในการพายแต่ละคู่สามารถเปลี่ยนตัวได้ตลอด

            7. ข่งขัผลการแน กำหนดแข่งขัน 2 เที่ยว โดยเปลี่ยนร่องน้ำทุกครั้ง หากผลชนะกันคนละเที่ยว จะจับสลากสายน้ำใหม่เพื่อแข่งขันในเที่ยวที่ 3 ถ้าผลออกมาเสมอกันอีกจะใช้วิธีการจับสลาก (กติกาการแข่งขันขึ้นอยู่กับคณะกรรมการแข่งขันจะกรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมแก่เรือเข้าร่วมแข่งขันทุกลำ)

            เรือที่เคยได้รับถ้วยพระราชทานไปครองเป็นกรรมสิทธิ์ เนื่องจากชนะเลิศ 3 ปี ติดต่อกันมีดังนี้

            เรือเทพนรสิงห์ 88 ประเภทเรือยาวใหญ่ จากวัดเสาไห้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ชนะเลิศ ระหว่าง พ.ศ.2534 – 2536
            เรือประกายเพชร ประเภทเรือยาวกลาง จากวัดวังจิก   อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ชนะเลิศ ระหว่าง พ.ศ.2524 - 2526

            เรือเพชรชมพู ประเภทเรือยาวกลาง จากวัดบางมูลนาก อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ชนะเลิศ ระหว่าง พ.ศ.2529 – 2531

            เรือเลิศลอยฟ้า ประเภทเรือยาวเล็ก จากวัดหาดมูลกระบือ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ชนะเลิศ ระหว่าง พ.ศ.2524 – 2527

            เรือเทพนครชัย ประเภทเรือยาวเล็ก จากวัดประชานาท อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ชนะเลิศ ระหว่าง พ.ศ.2531 – 2533

ที่มาข้อมูล...
-muengphichit.blogspot.com (http://muengphichit.blogspot.com/2013_07_01_archive.html)
-วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87_(%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3))